วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ความผูกพัน

ความผูกพัน (Attachment หรือ Affective Involvement) หมายถึงระดับความรู้สึกห่วงใยที่บุคคลมีต่อกัน รวมทั้งความสนใจและการเห็นคุณค่าของกันและกัน ความผูกพันที่ไม่เหมาะสมในคู่รักอาจเป็นแบบใดแบบหนึ่งดังนี้ (Epstein, Bishop และ Baldwin 1982)

1. ผูกพันจนเหมือนเป็นบุคคลเดียวกัน (Symbiotic Involvement) เป็นความผูกพันที่แน่นแฟ้นจนทั้งคู่เหมือนเป็นบุคคลเดียวกันและไม่มีขอบเขตส่วนตัวเลย

2. ผูกพันมากเกินไป (Over Involvement) ความผูกพันเป็นไปอย่างปกป้อง หรือจุ้นจ้านมากเกินไป และอีกฝ่ายหนึ่งมีความเป็นส่วนตัวหรือเป็นตัวของตัวเองน้อยมาก

3. ผูกพันเพื่อตนเอง (Narcissistic Involvement) ความสนใจในอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้เป็นไปอย่างจริงใจ แต่เป็นไปเพื่อตนเอง (Egocentric) และเพื่อเสริมสร้างคุณค่าให้ตนเอง

4. ผูกพันโดยปราศจากความรู้สึก (Involvement Devoid of Feeling) คู่สมรสไม่มีความลึกซึ้งทางอารมณ์และความห่วงใยด้วยน้ำใสใจจริง ความสนใจที่มีต่ออีกฝ่ายหนึ่งเป็นไปเพราะความอยากรู้อยากเห็น อยากควบคุมหรือเป็นไปตามหน้าที่ เช่น สามีที่มีภรรยาน้อย แต่ต้องมาแสดงความห่วงใยภรรยาหลวงยามเจ็บไข้ เป็นต้น

5. ปราศจากความผูกพัน (Lack of Involvement) คู่สมรสหรือคู่รักไม่มีความสนใจใยดีกันเลย เป็นแบบต่างคนต่างอยู่ ชีวิตคู่มีความหมายเพียงการมาอยู่ร่วมชายคาเดียวกันเท่านั้นความผูกพันที่ไม่เหมาะสมดังกล่าวนี้ ทำให้คู่สมรสขาดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน และความรู้สึกที่จะพึ่งพิงกันได้ในยามจำเป็น นอกจากนี้ยังทำให้ไม่สามารถร่วมมือกันทำภารกิจที่สำคัญให้ลุล่วงไปได้ ตัวอย่างเช่น สามีภรรยาที่ไม่มีความผูกพันใกล้ชิดกันย่อมไม่สามารถปกครองลูกได้ เป็นต้น
ความผูกพันที่เหมาะสมคือ ความผูกพันอย่างมีความเข้าใจ (Empathic Involvement) นั่นคือ มีความสนใจและผูกพันต่ออีกฝ่ายหนึ่งอย่างแท้จริง โดยมีพื้นฐานอยู่บนความเข้าใจในความต้องการของอีกฝ่ายหนึ่ง ความผูกพันแบบนี้ทำให้คู่สมรสตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ของอีกฝ่ายได้อย่างเหมาะสม
ความผูกพันจะต่างกันในวงจรชีวิตแต่ละระยะ โดยจะสูงสุดในระยะที่เพิ่งรักกันใหม่ ๆ หรือแต่งงาน และลดลงในระยะที่ลูกเข้าวัยรุ่น หลังจากนั้นจะสูงขึ้นอีกเมื่อลูกโตและแยกจากครอบครัวไป

ความสมดุลระหว่างความผูกพันและความเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญและจะแตกต่างกันไปในแต่ละคู่ สามีภรรยาอาจมีความต้องการแตกต่างกัน เช่น สามีต้องการความเป็นตัวของตัวเองมาก แต่ภรรยาต้องการความผูกพันมาก ดังนั้น คู่สมรสหรือคู่รักต้องตระหนักถึงความแตกต่างนี้และพยายามทำให้ความผูกพันที่มีต่อกันเป็นไปอย่างเหมาะสมกับความต้องการของแต่ละฝ่าย หากความผูกพันเป็นไปอย่างเหมาะสมก็จะทำให้เกิดปัญหาได้ เช่น ภรรยาเข้ามาผูกพันใกล้ชิดกับสามีมากเกินไป มาคอยดูแลเอาใจใส่มากจนสามีรู้สึกอึดอัด สามีก็อาจต้องพยายามหาทางสร้างระยะห่างด้วยวิธีต่างๆ เช่น กลับบ้านค่ำ ทำงานพิเศษ หรือไปมีผู้หญิงคนใหม่ เป็นต้น

ในชีวิตของบุคคลจะมีความผูกพันกับคนหลายคน นอกจากกับคู่ของตนแล้ว ยังมีความผูกพันกับลูก พ่อแม่ ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงอีกด้วย แต่ต้องระวังไม่ให้ความผูกพันกับบุคคลอื่นในระบบภายนอกนั้นมากเกินว่าความผูกพันที่มีต่อครอบครัวปัจจุบัน เพราะจะทำให้ครอบครัวปัจจุบันเกิดปัญหาได้

การที่บุคคลมีความผูกพันกับคู่ของตนเองมากเกินไปอาจทำให้เกิดปัญหา เช่น อาจเกิดการพึ่งพิงอีกฝ่ายหนึ่งมากเกินไป มีความคาดหวังว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเข้าใจตน มีคำตอบให้ตนทุกอย่าง หรือแก้ไขปัญหาให้ตนได้เสมอ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นไปไม่ได้ ความคาดหวังนี้จะทำให้เกิดความรู้สึกผิดหวัง และอีกฝ่ายหนึ่งจะเกิดความรู้สึกว่าตนปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ดีพอการมีความผูกพันที่เหมาะสมโดยมีความเป็นตัวของตัวเองเพียงพอจะทำให้ทั้งคู่ไม่มีปฏิกิริยาต่อกันมากเกินไป ทั้งสองฝ่ายจะสื่อสารกัน เปิดเผยความรู้สึกนึกคิดต่อกันได้อย่างอิสระ และจะสามารถประคับประคองต่อกันได้ดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น